หน่วยการเรียนรุ์4

บุคคลสำคัญ


รัชกาลต่อมาเป็นยุคทองของศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระปรีชาสามารถในงานศิลปกรรมหลายแขนง ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมสำคัญไว้หลายเรื่อง เช่น บทละครเรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ (ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับการแสดงโขน) ไชยเชษฐ์ คาวี ไกรทอง มณีพิชัย สังข์ทอง กาพย์เห่เรือ ฯลฯ ทางด้านดนตรีทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงบุหลันลอยเลื่อน ซึ่งเคย ดัดแปลงใช้บรรเลงเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี ทั้งยังทรงมีความชำนาญในการทรงซอสามสาย ส่วนในงานประติมากรรมนั้น "…ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามฯ ทรงแกะสลักหน้าหุ่นด้วยไม้รัก ซึ่งทั้งหมดเป็นแบบที่ทรงสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ แตกต่างไปจากแบบแผนของช่างโบราณ นอกจากนั้นยังทรงแกะสลักไม้บานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวรารามฯ ร่วมกับช่างฝีมือชั้นเยี่ยม บานประตูนี้เป็นงานไม้แกะสลักนูนสูง เป็นภาพของป่าเขาที่มีความละเอียดประณีต มีชีวิตชีวาและงดงามมาก" (กรมวิชาการ. 2527 : 26)
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยงานศิลปะและสถาปัตยกรรมและมีแนวพระราชดำริในการประยุกต์รูปแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมของจีน ซึ่งมีการติดต่อค้าขายกันอย่างใกล้ชิด นำมาใช้ร่วมกับรูปแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย โดยเฉพาะในการสร้างวัด ทำให้วัดที่สร้างในรัชสมัยของพระองค์ มีลักษณะที่แปลกตาและเป็นแบบอย่างเฉพาะ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาและคลี่คลายสถาปัตยกรรมตามแนวประเพณี
พระราชกรณียกิจทางด้านศิลปวัฒนธรรมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงอนุรักษ์และพัฒนาแบบอย่างงานศิลปกรรมโบราณโดยเฉพาะสถูปเจดีย์ โปรดเกล้าฯให้จำลองมาจากสถานที่ต่าง ๆ โดยปรับให้เหมาะสมตามพระราชดำริ พระองค์ทรงเป็นนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ครั้งทรงผนวช ทรงคำนึงถึงความถูกต้อง มีการตรวจสอบเอกสารจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ "…พระมหากรุณาธิคุณทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่สำคัญคือการที่ทรงเป็นธุระจัดการสืบค้นหาศิลาจารึกสมัยสุโขทัย และทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยที่เป็นแบบอย่างมาจนถึงปัจจุบันหลายประการ หนังสือหลักภาษาไทยยังบรรจุการสอนเรื่องคำบุรพบทซึ่งนำมาจาก พระบรมราชาธิบายของพระองค์" (กรมวิชาการ. 2527 : 65 -66) ในด้านนาฏศิลป์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนทั่วไปฝึกละครผู้หญิงหรือละครในได้ ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติสงวนไว้ให้ฝึกสอนเฉพาะในวังตั้งแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทั้งนี้ทรงมีพระราชดำริว่าเป็นการส่งเสริมและประชาชนจะได้มีส่วนช่วยกันสืบทอดต่อไป
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้มีการศึกษาศิลปกรรมของ ชาติอื่นนำมาเทียบเคียงและสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ด้วยทรงทอดพระเนตรเห็นรูปแบบศิลปกรรมที่หลากหลายจากการเสด็จประพาสทวียุโรปถึง 2 ครั้ง (พ.ศ. 2440 และ พ.ศ. 2450) แม้ว่าจะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในการปรับปรุงกิจการด้านต่าง ๆ อยู่ตลอดรัชสมัยเพื่อให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ พระองค์ยังทรงให้ความสนพระทัยในงานศิลปะ และสถาปัตยกรรม ทรงดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์เป็น ผู้ถวายงาน ทรงโปรดการถ่ายภาพมาตั้งแต่พระชนมายุ 15 พรรษา ทรงพระราชนิพนธ์ "เรื่องถ่ายรูปเมืองไทย" และทรงจัดให้มีการแสดงภาพถ่าย และการประชันรูป (ประกวดภาพถ่าย) เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2448 (อเนก นาวิกมูล. 2541 : 119)
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นยุคทองแห่งวรรณกรรม อีกครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระมหาธีราชเจ้า ด้วยทรงเป็นกวีเอกที่ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมทุกรูปแบบ หลายร้อยเรื่อง เช่น บทความ สารคดี บทละคร นิทาน ฯลฯ เรื่องที่ทรงพระราชนิพนธ์มีทั้งที่ทรงคิดขึ้นเอง ทรงดัดแปลง และทรงแปลมาจากวรรณกรรมต่างชาติ บทพระราชนิพนธ์ ส่วนใหญ่มุ่งสร้างทัศนคติและค่านิยมทางการเมือง การปกครอง ความเสียสละ ความรักชาติ ฯ และยังได้แฝงคติทั้งทางโลกและทางธรรมอีกด้วย วรรณกรรมในรัชกาลนี้จึงมีบทบาทสำคัญ ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยเป็นอย่างมาก (มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2539 ; 21)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2468 นั้น ประเทศไทยประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ไม่มีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรมของชาติที่ได้รับการวางรากฐานไว้เป็นอย่างดี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดระบบระเบียบโดยทรงสถาปนาราชบัณฑิตสภา หอสมุดและพิพิธภัณฑสถาน โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม รวมทั้งการสร้างสถาปัตยกรรมสมัยใหม่หลายแห่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัย และทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงไทยไว้ 3 เพลง ได้แก่เพลงราตรีประดับดาวเถา เพลงเขมรละออองค์เถา และเพลงคลื่นกระทบฝั่งสามชั้น นอกจากนี้พระองค์ยังทรงโปรดการถ่ายภาพและการถ่ายภาพยนตร์ (โดม สุขวงศ์. 2533 : 10) ทรงเป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นที่สำคัญทั้งของประเทศไทยและของโลก โดยทรงเป็นสมาชิกสันนิบาต ภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งโลก และทรงก่อตั้งสมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยามเมื่อ พ.ศ. 2473
หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติในปี พ.ศ. 2477 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศยังมีความยุ่งยากและ ในที่สุดได้ก่อตัวเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้กราบทูลอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดลเสด็จขึ้นครองราชย์ตามกฎมณเฑียรบาล ในขณะที่ทรงมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา และกำลังทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จนิวัติเยี่ยมประชาชนชาวไทยเป็นเวลาสั้น ๆ เพียง 2 ครั้งในปี พ.ศ. 2481 และ 2488 ในการเสด็จนิวัติครั้งหลังนี้ได้เสด็จสวรรคต จึงยังมิทันได้ทรงบำเพ็ญพระราช กรณียกิจของพระมหากษัตริย์ในหลายด้าน รวมทั้งด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่เชื่อว่าจะทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกหลายประการ
ที่กล่าวไว้แต่เพียงพระราชกรณียกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของบูรพากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์นั้น ด้วยเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นศิลปะและวัฒนธรรมไทยและได้สืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน ล้วนได้รับการฟื้นฟู อนุรักษ์ รวมทั้งมีวิวัฒนาการอย่างมากในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ อีกประการหนึ่งคือความชัดเจนในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกทั้งแนวพระราชดำริที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม และส่วนที่เป็นการบันทึกพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไว้มากกว่าครั้งกรุงศรีอยุธยา
จะเห็นได้ว่าการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมนั้นเป็นพระราชภารกิจของพระมหากษัตริย์ไปโดยปริยายแต่มีน้ำหนักความสำคัญต่างกันตามเหตุการณ์และความจำเป็นของบ้านเมือง ในช่วงรัชกาลแรก ๆ นั้น การสร้างราชธานีขึ้นใหม่งดงามเหมือนกรุงศรีอยุธยาที่สะสมความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมมานานหลายศตวรรษ เป็นงานที่ต้องระดมพระราชทรัพย์ แรงงาน และความรู้ความสามารถของช่างไทย ซึ่งใช้เวลา 2 ปี เศษจึงสามารถจัดสมโภชพระบรมราชวังและพระนครได้ การทรงงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมจึงเด่นชัดมาก ไม่เพียงแต่ทางศิลปะและสถาปัตยกรรมเท่านั้น ยังรวมถึงวรรณกรรม นาฏกรรม และการดนตรีที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างขวัญและกำลังใจให้ประชาชน ช่วงรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 6 เป็นช่วงเวลาที่มีการติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น การแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมโดยมีการค้า การฑูต และการเผยแพร่ศาสนาจากภายนอก ได้ทำให้เกิดการปรับตัวที่เป็นคุณประโยชน์ ด้วยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมตามแบบแผนประเพณี และในขณะเดียวกันทรงกระตุ้นให้ช่างและศิลปินไทยกล้าที่จะคิดสร้างสรรค์แบบอย่างใหม่ ๆ ที่เป็นการผสมผสานแบบแผนของไทยเข้ากับวิทยาการของชาติตะวันตก และตั้งแต่รัชกาลที่ 7 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ประเทศไทยมีส่วนร่วมในกิจกรรมระหว่างชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก เป็นผลให้กระแสความเป็นสมัยใหม่หลั่งไหลเข้ามาทั้งจากต่างชาติโดยตรง และโดยการนำเข้ามาของนักเรียนไทยที่ไปศึกษาในต่างประเทศ ประกอบกับความจำเป็นในการพัฒนาบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของประชาชน ความนิยมในความทันสมัยจึงบดบังความเป็นไทยไว้มากขึ้น พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยทรงมีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งในการอนุรักษ์มรดกไทย และการสร้าง เอกลักษณ์ไทย ซึ่งทั้งสองส่วนนี้มีบริบทที่กว้างขวางมากและมีความยากลำบากที่จะให้เข้าไปอยู่ในจิตใจและในสำนึกของประชาชนทั่วไป ทรงเป็นผู้นำและทรงเป็นแบบอย่างให้แก่พสกนิกรในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้ภาษาไทย การสร้างความพึงพอใจในความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย การประพฤติตนเป็นผู้มีมารยาท มีวัฒนธรรมทั้งอย่างสากลและอย่างเป็นไทย การพิจารณาเลือกรับและปรับใช้วัฒนธรรมซึ่งมีที่มาจากต่างชาติ รวมทั้งการอนุรักษ์และการสร้างสรรค์ศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ
บทบาทของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ทรงมีต่อศิลปวัฒนธรรมของชาตินั้น มีความแตกต่างกันบ้าง ซึ่งเป็นไปตามความเหมาะสมของยุคสมัยและความจำเป็นของบ้านเมือง แต่มีสิ่งที่น่าสังเกตสำหรับพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์นี้ ทุกพระองค์ล้วนสนพระราชหฤทัยและทรงมีพระปรีชาสามารถในศิลปะแขนงใดแขนงหนึ่ง บางพระองค์ทรงโปรดหลายแขนง และทุกพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม พร้อมทั้งทรงเป็นองค์ผู้สร้างงานศิลปะหรือมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดด้วย จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ในช่วงแรกทรงเป็นนักรบ นักปกครองและศิลปิน และในช่วงเวลาต่อมาพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทรงเป็นนักการฑูต นักพัฒนา และศิลปิน พระอัจฉริยภาพในความเป็นศิลปินจึงมีอยู่อย่างมั่นคงเฉพาะในพระบรมราชจักรีวงศ์นี้สืบทอดมายาวนานถึงรัชกาลปัจจุบันเป็นเวลากว่าสองศตวรรษ ดังความตอนหนึ่งในคำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณในวโรกาสที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปีการศึกษา 2529 ความตอนหนึ่งว่า
พระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระบูรพามหากษัตริยาธิราชในพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงมีต่อเมืองไทยและคนไทยนั้นมากมายเป็นอเนกปริยาย นอกจากจะ ทรงปกบ้านครองเมืองให้ร่มเย็น เป็นสุขด้วยความที่ทรงมั่นอยู่ในราชธรรมทศพิธ แล้ว ยังทรงเป็นดวงแก้วส่องทางดำเนินไปสู่ความจำเริญให้ปรากฏชัดแก่ชาวนิกรชน ทรงเป็นต้นแบบให้อาณาประชาราษฎร์ได้ชื่นชมกับงานศิลปะแขนงต่าง ๆ อันถือว่าเป็นอาภรณ์ประดับชาติ พระวุฒิปรีชาสามารถในศิลปกรรมศาสตร์ทุกสาขาไม่ว่าจะเป็นสาขาทัศนศิลป์ สาขานฤมิตศิลป์ สาขาดุริยางคศิลป์ และสาขานาฏศิลป์ เป็นพระราชมรดกพิเศษที่พระราชทานสืบเนื่องมาโดยไม่ขาดสาย จนอาจกล่าวได้ว่าพระมหาจักรีบรมราชวงศ์เป็นพระบรมราชตระกูลแห่งศิลปินโดยแท้(ทบวงมหาวิทยาลัย. 2539 : 91)